เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2567 – กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และกรุงเทพมหานครผนึกกำลังเอกชน ได้แก่ บริษัท คาโอ
อินดัสเตรียล (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท ทาเคดา (ประเทศไทย) จำกัด และพันธมิตรต่างๆ อาทิ สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค สวทช.) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และพันธมิตรจากความร่วมมือ Dengue Zero ในงาน
วันไข้เลือดออกอาเซียน 2567 หรือ ASEAN Dengue Day 2024 ภายใต้แนวคิด "Dengue Hero towards Zero Death" เพื่อสร้างการตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนถึงอันตรายของไข้เลือดออกที่ใกล้ตัวและวิธีการป้องกันจากโรคไข้เลือดออก พร้อมชวนทุกคนมาเป็น "ฮีโร่" ช่วยกันส่งต่อแนวทางการป้องกันไข้เลือดออกให้คนรอบตัว เพื่อลดอัตราการระบาดและทำให้ไข้เลือดออกเหลือศูนย์ต่อไป ขานรับนโยบายขององค์การอนามัยโลกที่อัตราการเสียชีวิตจากไข้เลือดออกจะต้องหมดไปภายในปี 2573 ณ ห้องประชุมบางกอก อาคาร
ไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง
นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า "ยอดผู้ป่วยไข้เลือดออกในประเทศไทยอาจพุ่งสูงขึ้น อันเนื่องมาจากปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) ทำให้อุณหภูมิ ปริมาณน้ำฝน และความชื้นเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อการระบาดของยุงลายซึ่งเป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก ผู้ป่วยไข้เลือดออกสะสมในประเทศไทย ตั้งแต่เดือน 1 ม.ค. – 5 มิ.ย. 67 พบผู้ป่วยจำนวน 30,353 ราย ผู้เสียชีวิต 36 ราย และคาดการณ์ว่าอาจเสียชีวิตมากกว่า 200 รายในปีนี้ ซึ่งเพิ่มสูงสุดในรอบ 5 ปี สำหรับแนวทางการป้องกัน กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรคได้กำหนดมาตรการ 4 เน้น 4 เดือน เพื่อป้องกันการระบาดของโรคไข้เลือดออกระหว่างเดือน มิ.ย. – ก.ย. 2567 ได้แก่ 1) ด้านการเฝ้าระวังโรคและยุงพาหะ โดยการสำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายให้มีค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายน้อยกว่า 5 2) ด้านการตอบโต้และควบคุมยุงพาหะ โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควบคุมโรคไข้เลือดออกตามแนวทางมาตรฐาน 3) ด้านการวินิจฉัยและรักษา ให้สถานบริการในพื้นที่ตรวจผู้ป่วยสงสัยติดเชื้อไข้เลือดออกทุกรายด้วยชุดตรวจเร็วสำหรับไข้เลือดออก (NS1) และ4) ด้านการสื่อสารความเสี่ยง เน้นประชาสัมพันธ์ให้ร้านขายยาและสถานบริการทางการแพทย์งดจ่ายยา NSAID ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ การร่วมมือกันในทุกภาคส่วน จึงขอเชิญชวนประชาชนให้มีสุขภาพดีไปด้วยกันด้วยการร่วมเป็นฮีโร่ในการป้องกันไข้เลือดออก ช่วยกันบอกต่อแนวทางการป้องกันไข้เลือดออกให้กับคนใกล้ตัว เพื่อเป็นการกระจายความรู้ออกไปเป็นวงกว้าง"
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร กล่าวว่า "เนื่องจากสภาพภูมิทัศน์ของกรุงเทพมหานครที่หลากหลายและอาจเอื้อให้เกิดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เพื่อป้องกันและควบคุมไข้เลือดออก กทม.จึงดำเนินการเชิงรุกในพื้นที่ชุมชน โรงเรียน และศาสนสถาน โดยการเฝ้าระวังการเพาะพันธุ์ของลูกน้ำยุงลาย การสำรวจและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในพื้นที่ชุมชน การปรับภูมิทัศน์สิ่งแวดล้อม จัดทำ Big Cleaning Day ลงพื้นที่ชุมชนอย่างต่อเนื่อง และย้ำเตือนแก่ประชาชนและอาสาสมัครสาธารณสุขทั้ง 50 เขต
ซึ่งเป็นเส้นเลือดฝอยในการที่ช่วยกระจายความรู้ ร่วมกับการย้ำเตือนถึงวิธีลดความเสี่ยงของการแพร่กระจายด้วยการมาตรการ 5 ป.
1 ข 3 เก็บ ได้แก่ 5 ป. ปิด เปลี่ยน ปล่อย ปรับปรุง ปฏิบัติ เพื่อปราบยุงลาย 1 ข. ขัดทำความสะอาดภาชนะบรรจุน้ำ และ 3 เก็บ เก็บขยะ เก็บบ้าน เก็บน้ำ พร้อมทั้งใช้แอปพลิเคชัน Line ในการสื่อสารความเสี่ยงให้ประชาชนทราบถึงภัยของไข้เลือดออกและแนวทางในการป้องกันตนเองที่สามารถเข้าถึงได้สะดวกและรวดเร็ว นอกจากการป้องกันแบบบูรณาการแล้ว อัตราการเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกจะลดลงได้ตามเป้า หากเราทุกคนมาร่วมกันเป็น เดงกี่ ฮีโร่ นำพาชุมชนไปสู่สังคมปลอดไข้เลืออดออกด้วยกัน"
นายยูจิ ชิมิซึ ประธานกรรมการ บริษัท คาโอ อินดัสเตรียล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า "คาโอดำเนินธุรกิจด้วยความมุ่งมั่นในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย และได้ตระหนักถึงภัยร้ายของโรคไข้เลือดออก โดยได้ดำเนินโครงการ "GUARD OUR FUTURE" ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 เพื่อปกป้องให้ผู้คนให้ห่างไกลและปลอดภัยจากยุง ซึ่งในส่วนแรกของโครงการเรามุ่งเน้นในการทำงานร่วมกับภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม และสถาบันศึกษา โดยในปีนี้คาโอได้สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาฟีเจอร์ "Mosquito Bite Crowdsourcing" ในแอปพลิเคชัน "รู้ทัน" หรือแอปแจ้งเตือนภัยสุขภาพที่อยู่รอบตัว ซึ่งดำเนินการโดย เนคเทค สวทช.
และกรมควบคุมโรค เพื่อเป็นเครื่องมือให้ประชาชนเข้ามาร่วมช่วยกันรายงานสถานการณ์ของยุงตรงพื้นที่ที่ตนอาศัยอยู่ จากการทำงาน หรือทำกิจกรรมใด ๆ ได้จากทั่วประเทศ โดยข้อมูลการรายงานนี้ จะนำมาช่วยเสริมการตรวจจับการระบาดในการป้องกันควบวบคุมโรคไข้เลือดออกต่อไป อีกทั้งคาโอยังให้ความสำคัญกับการป้องกันการแพร่ระบาดระดับประเทศ ได้ทำการสนับสนุนผลิตภัณฑ์ป้องกันยุงให้ทางกรมควบคุมโรคอย่างต่อเนื่องเพื่อลดการแพร่ระบาดจากโรคไข้เลือดออกในวงกว้าง และในส่วนที่ 2 ของโครงการ
คาโอมุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อปกป้องผู้คนให้ห่างไกลจากยุง ซึ่งล่าสุดในปีนี้คาโอได้เปิดตัวนวัตกรรมใหม่ที่โดดเด่นด้านความปลอดภัย สามารถใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันยุงได้และไม่รบกวนกิจวัตรประจำวันอีกด้วย"
นายปีเตอร์ สไตรเบิล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทาเคดา (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า "ทาเคดามุ่งมั่นเป็นส่วนหนึ่งของกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยก้าวสู่สังคมปลอดไข้เลือดออกผ่านความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนในหลากหลายมิติ
เพื่อช่วยลดภาระทางด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจ และสังคม โดยเน้นการสื่อสารที่ให้เห็นถึงความสำคัญของมาตรการป้องกันโรคไข้เลือดออกและการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร คุณครูและนักเรียนในพื้นที่เสี่ยงทั่วประเทศ อีกทั้งได้มีการยกระดับการรายงานข้อมูลไข้เลือดออกของประเทศให้มีความรวดเร็วและถูกต้อง จัดทำแผนแม่แบบ ระบบ และกระบวนการการดำเนินการประสานความร่วมมือของพันธมิตร การเปิดตัว 'อิงมา' Dengue Virtual Human หรือมนุษย์ที่สร้างขึ้นแบบเสมือนจริงเพื่อเป็นตัวแทนของผู้ป่วยไข้เลือดออกในไทยจำนวน 1,237,467 คนในช่วงเวลา 15 ปีที่ผ่านมา เพื่อกระตุ้นความตระหนักรู้ของโรคไข้เลือดออกตามสื่อต่างๆ สำหรับปีนี้แคมเปญ "ยิ่งไม่รู้ ยิ่งต้องป้องกัน" ภายใต้ความร่วมมือ Dengue-zero นำโดย กรมควบคุมโรค และ กรุงเทพมหานครจะยกระดับการสร้างความตระหนักรู้ เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ถึงความอันตรายของโรคโดย 'วิน เมธวิน โอภาสเอี่ยมขจร' ศิลปินดาวรุ่งระดับอินเตอร์อาสาเป็นหนึ่งใน "เดงกี่ ฮีโร่" เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการป้องกันไข้เลือดออกและการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อปกป้องตนเองและคนใกล้ตัวให้ห่างไกลจากไข้เลือดออก และจะเดินหน้าประสาน
ทุกความร่วมมือเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการลดอัตราการระบาด การเจ็บป่วย และการสูญเสียให้เป็นศูนย์ในไทยให้ได้"
บริษัท คาโอ อินดัสเตรียล (ประเทศไทย) จำกัด
อาคาร โอเนส ทาวเวอร์ ชั้น 14 เลขที่ 6 ซอยสุขุมวิท 6 แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กทม. 10110